จรัญเอสโซซิเอทส์ (Charan Associates)

บทความ

​ผลกระทบของน้ำหมักชีวภาพที่มีต่อด้วงเต่าลายหยัก

12-03-2558 10:22:12น.
 การควบคุมศัตรูพืชด้วยวิธีการทางชีวภาพ เป็นวิธีการที่มีการศึกษาอย่างกว้างขวาง แนวทางหนึ่งก็คือการใช้ศัตรูธรรมชาติซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เช่น เพลี้ยไฟตัวห้ำ มวนตัวห้ำ หนอนแมลงวันดอกไม้ และด้วงเต่าตัวห้ำ และปัจจุบันมีการส่งเสริมการนำน้ำหมักชีวภาพจากพืช มาใช้ทดแทนสารเคมีร่วมกับการใช้ศัตรูธรรมชาติควบคุม แมลงศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่น้ำหมักชีวภาพจากพืชบางชนิดอาจมีผลทำให้แมลงศัตรูธรรมชาติบางชนิด ลดจำนวนลงได้ด้วยเช่นกัน

          จากสภาพปัญหานี้ นางสาวอรทัย แก้วคำ นางสาวณัฐนิชา รักมิตร และนางสาวอรวีร์ ชีวาจร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ได้สังเกตพบว่า เกษตรกรนิยมนำน้ำหมักชีวภาพกำจัดเพลี้ยอ่อนถั่ว แต่น้ำหมักชีวภาพจะมีผลกระทบต่อด้วงเต่าลายหยัก ซึ่งเป็นแมลงที่มีประโยชน์ต่อพืช จึงได้ทำงานวิจัย เรื่อง ผลกระทบของน้ำหมักชีวภาพที่มีต่อด้วงเต่าลายหยัก Menochilus sexmaculatus (Fabricius) เนื่องจากการกำจัดเพลี้ยอ่อนถั่ว Aphis craccivora Koch. โดยมีนายชิด วงค์ใหญ่ และนางสุกัลยา วงค์ใหญ่ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา รวมทั้ง ผศ.ดร. ธวัดชัย ธานี จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ปรึกษา

 

          นักวิจัยหญิงรุ่นเยาว์เหล่านี้ แบ่งการศึกษาออกเป็น 4 การทดลอง ได้แก่ การทดลองที่ 1 ศึกษาผลของน้ำหมักชีวภาพที่มีต่อเปอร์เซ็นต์การตายของด้วงเต่าลายหยัก และเพลี้ยอ่อนถั่ว การทดลองที่ 2 ศึกษาประสิทธิภาพการห้ำของด้วงเต่าลายหยักเมื่อฉีดพ่นด้วยน้ำหมักชีวภาพ การทดลองที่ 3 ศึกษาตารางชีวิตของด้วงเต่าลายหยักเมื่อฉีดพ่นด้วยน้ำหมักชีวภาพ การทดลองที่ 4 ศึกษาผลของสารจากพืชบางชนิดในน้ำหมักชีวภาพที่มีต่อเปอร์เซ็นต์การตายของด้วงเต่าลายหยัก และเพลี้ยอ่อนถั่ว

          ผลการทดลอง พบว่า ตัวอ่อนด้วงเต่าลายหยัก ระยะตัวอ่อนวัยที่ 1 2 3 และ 4 ที่ฉีดพ่นด้วยน้ำหมักชีวภาพมีอัตราส่วนการตายมากที่สุด เท่ากับ 30.00 28.57 20.00 10.00 ตามลำดับ เมื่อนำน้ำหมักชีวภาพมาศึกษาผลของสารจากพืชบางชนิดที่เกษตรกรนิยมนำมาทำน้ำหมักชีวภาพ ได้แก่ สะเดา ฟ้าทะลายโจร และบอระเพ็ด พบว่า น้ำหมักชีวภาพจากพืชทั้ง 3 ชนิดมีผลกระทบต่อเปอร์เซ็นต์การตายของตัวอ่อนด้วงเต่าลายหยักแต่ละระยะใกล้เคียงกัน แต่น้ำหมักชีวภาพจากฟ้าทะลายโจรมีประสิทธิภาพในการกำจัดเพลี้ยอ่อนถั่วได้ดีที่สุด

          งานวิจัยนี้อยู่ภายใต้โครงการ Girls in Environmental STEM Education Project ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และบริษัทอินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้ผ่านระบบสะเต็มศึกษา (STEM Education) และการใช้โครงงานเป็นฐานในการเรียนรู้ (Project Based Learning) ซึ่งจะนำเสนอผลงานในงานประชุมนำเสนอผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมระดับโรงเรียน ในช่วงกลางเดือนมีนาคมปี พ.ศ. 2558 ที่โรงแรมใบหยกสกาย กรุงเทพมหานคร